มองประวัติศาสตร์ ยุค “พระเจ้าท้ายสระ” ผ่านพงศาวดาร สมเด็จพระพนรัตน์ฯ

ละครภาคต่อจากบุพเพสันนิวาสอย่างเรื่อง “พรหมลิขิต” มีการพูดถึงประวัติศาสตร์อยุธยาในรัชสมัยของ “สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ” ผู้รับบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาอย่าง “พระเจ้าเสือ” โดยมีการกล่าวถึงพระองค์ในหลากหลายแง่มุม ทั้งในด้านการสร้างความสะดวกแก่ประชาชนอย่างการสั่งให้ขุด “คลองมหาไชย” ด้านการสานความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ไปจนถึงเสียงลือถึงความชอบ “ปลาตะเพียน” ของพระองค์

"พระเจ้าท้ายสระ" ผู้เวนคืนราชสมบัติ ต้นเหตุสงครามชิงบัลลังก์อโยธยา

ไล่เลียงลำดับ กษัตริย์อยุธยา “พระนารายณ์-พระเพทราชา” อยู่ในช่วงไหน?

"เจ้าฟ้าพร" หรือ "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ" กษัตริย์ยุคชิงราชสมบัติ ผู้ฟื้นฟูพุทธศาสนา

ซึ่งในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ มีการบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของพระองค์ด้วย โดย PPTV นิวมีเดีย จะเผยไทม์ไลน์รวมถึงมุมมองต่าง ๆ และสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของ “พระเจ้าท้ายสระ” จากพงศาวดารฉบับนี้กัน!

ขึ้นครองราชย์

ก่อนที่พระเจ้าท้ายสระจะเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทำพิธีอาบน้ำดอกไม้หอม ก่อนสวมฉลองพระองค์ และรับสั่งให้นำพระศพของพระเจ้าเสือผู้เป็นพระราชบิดา ประดิษฐานไว้ในเขตพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (ตำบลท่าวาสุกรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

หลังจากนั้นพระองค์พร้อมด้วยเจ้าฟ้าพร พระอนุชา จึงมาประทับยังท้องพระโรงพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เพื่อประกอบพิธีครองราชสมบัติ โดยมีเหล่าขุนนางอำมาตย์เป็นพยาน มอบเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ (มงกุฏ) พระแสงขรรค์ชัยศรี (ดาบ) ธารพระกร (ไม้เท้า) วาลวิชนีพร้อมแส้หางจามรี และฉลองพระบาท รวมถึงเครื่องราชาประโภค พร้อมดื่มน้ำพิพัตย์สัตยา สาบานว่าจะจงรักภักดีต่อแผ่นดินในรัชกาลของพระองค์

จากนั้น พระเจ้าท้ายสระ ทรงมอบตำแหน่ง “กรมพระราชวังบวร” ให้แก่เจ้าฟ้าพร พร้อมปูนบำเน็จแก่ขุนนางอำมาตย์ในวัง เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี ก่อนจะเสด็จไปประทับยัง “พระที่นั่งบรรยงก์รัตนอาสน์”

ห้ามบริโภคปลาตะเพียน

พระเจ้าท้ายสระทรงโปรดปรานการล่องเรือและการตกปลามาก เช่นเดียวกับพระเจ้าเสือ พระราชบิดา ซึ่งพระเจ้าท้ายสระโปรดเสวยปลาตะเพียนมาก ถึงขั้นที่ห้ามประชาชนรับประทานปลาตะเพียนเป็นอันขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับ 5 ตำลึง (20 บาท)

สำเร็จโทษพระองค์เจ้าดำ

พระเจ้าท้ายสระ ทรงเห็นว่าพระองค์เจ้าดำ ผู้เป็นพระปิตุลา (อา) ละลาบละล้วงเข้าไปในเขตพระราชฐานซึ่งเป็นเขตต้องห้าม โดยมิได้เกรงกลัวพระราชอาญาอยู่หลายครั้ง พระองค์จึงปรึกษากับเจ้าฟ้าพร พระอนุชา ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพิจารณาว่าเห็นเป็นมหันตโทษ

จึงโปรดให้พันธนาการพระองค์เจ้าดำ และสำเร็จโทษเสีย ณ วัดโคกพระยา ส่วนพระองค์เจ้าแก้วก็เสด็จไปทรงผนวชเป็นพระรูป (หรือบวชชี) อยู่กับกรมพระเทพามาตย์ (กัน) พระอัยยิกาของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระที่วัดดุสิดาราม

จากนั้นพระเจ้าท้ายสระ จึงมีรับสั่ง ให้จัดทำพระเมรุมาศขนาดใหญ่ โดยมีขื่อยาว 7 วา 2 ศอก (ราว 15 เมตร) สูงราว 22 เมตร ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 11 เดือนจึงสำเร็จ เมื่อได้ฤกษ์ จึงนำพระบรมโกษของพระองค์เจ้าดำขึ้นประดิษฐาน เหนือพระมหาพิไชยราชรถ แล้วจึงแห่เป็นขบวนไปยังพระเมรุมาศ เพื่อถวายพระเพลิง พร้อมพระสงฆ์สวดพระศพอีกกว่า 400 รูป จากนั้นจึงนำพระบรมโกฏพระอัฐิ เข้าบรรจุไว้ที่พระมหาวิหาร วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์

ทำนุบำรุงวัดพระพุทธบาท

พระเจ้าท้ายสระ เสร็จพระราชดำเนินทั้งทางบกและทางน้ำ พร้อมขุนนางและผู้ติดตามจำนวนมาก ไปยังวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี พร้อมรับสั่งให้ช่างนำแผ่นกระจกสีไปประดับยังผนังวัด และลงรักปิดทอง ก่อนเสด็จไปเคารพรอยพระพุทธบาท และเดินทางกลับพระบรมหาราชวัง

ยึดเมืองกัมพูชาคืน

ในปี พ.ศ. 2244 เกิดความวุ่นวายในกัมพูชา ประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา อันเนื่องมาจากการแย่งราชสมบัติระหว่าง นักเสด็จ กับนักแก้วฟ้าสะจอง โดยนักเสด็จขอเข้ามาอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าท้ายสระ ส่วนพระแก้วฟ้านักสะจองผู้เป็นอนุชา ฝักใฝ่อยู่กับฝ่ายญวน ที่พยายามแผ่อำนาจเข้าไปในกัมพูชา พระองค์ได้ส่งกองทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าไปถึงเมืองอุดงมีชัย เมืองหลวงของกัมพูชาในขณะนั้น และได้เกลี้ยกล่อมให้นักแก้วฟ้าสะจอง กลับมาอ่อนน้อมต่ออยุธยา เขมรจึงมีฐานะเป็นประเทศราชของอาณาจักรอยุธยาเช่นแต่ก่อน

กำเนิดราชบุตร-ราชบุตรี และสร้างวัดกับเจ้าฟ้าพร

พระเจ้าท้ายสระ มีอัครมเหสีคือ กรมหลวงราชานุรักษ์ (หรืออีกพระนามหนึ่งคือ จ้าวท้าว ตามพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์) โดยพระอัครมเหสีได้ให้กำเนิดราชบุตร-ราชบุตรี 5 พระองค์ ได้แก่ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ เจ้าฟ้าเทพ เจ้าฟ้าปทุม เจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศร์

จากนั้น พระองค์ได้แข่งกันสร้างวัดกับเจ้าฟ้าพร พระอนุชา คือ “วัดมเหยงคณ์” และ “วัดกุฎีดาว” ซึ่งวัดทั้งสอง ใช้เวลาสร้างกว่า 3 ปีเศษ จึงเสร็จสมบูรณ์ เมื่อสมบูรณ์แล้ว พระองค์ได้พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคและสังฆภัณฑ์แก่พระสงฆ์ 1,000 รูป ตามโบราณราชประเพณี จากนั้นมีรับสั่งให้จัดงานวัด 7 วัน 7 คืน

ชนช้างทรง

คืนหนึ่ง ขณะที่พระเจ้าท้ายสระและเจ้าฟ้าพร พระอนุชา เดินทางไปโพนช้าง (การจับช้างป่าโดยการนำช้างเลี้ยงจำนวนมากไปไล่ต้อนครั้งละ 4-5 เชือก) ณ ฝั่งตะวันออกของนครนายก ขณะนั้น ช้างของเจ้าฟ้าพรเกิดเอางาแทงช้างพระที่นั่งของพระเจ้าท้ายสระจนบาดเจ็บหนัก ก่อนที่พระเจ้าท้ายสระจะคุมช้างให้กลับไปยังพลับพลา และเจ้าฟ้าพรก็ได้ตามมายังพลับพลา พร้อมกล่าวขอโทษ พระเจ้าท้ายสระทรงให้อภัยพร้อมรับสั่งให้ควาญช้างไปรักษาช้างที่บาดเจ็บ

ขุดคลองมหาไชย-เคลื่อนพระนอนวัดป่าโมก

ขณะนั้น พระเจ้าท้ายสระ ทรงไปตกปลาบริเวณคลองมหาไชย ทรงพบว่าคลองมหาไชยยังขุดไม่เสร็จเสียที จึงมีรับสั่งให้เกณฑ์ไพร่พลกว่า 30,000 นาย ช่วยกันขุดจนสำเร็จ โดยมีนายช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ควบคุมการดำเนินการ ก่อนที่ต่อมาจะเสด็จไปยังวัดป่าโมก โดยพระยาสงครามแจ้งแก่พระองค์ว่า ขณะนี้น้ำเซาะตลิ่งมาจนถึงหน้าพระวิหารแล้ว คาดว่าอีกเพียง 1 ปี พระนอนวัดป่าโมกต้องจมลงใต้ผืนน้ำเป็นแน่

พระองค์จึงมีรับสั่งจากการร่วมประชุมกับเหล่าขุนนาง ให้ลากองค์พระนอนมาประดิษฐานใหม่ และบูรณะวัดป่าโมกให้สมบูรณ์

ทรงพระประชวร-เสด็จสวรรคต และการแย่งชิงราชบัลลังก์

พระเจ้าท้ายสระทรงพระประชวรหนักลงโดยไม่มีทีท่าว่าพระอาการจะดีขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการตรัสมอบเวนราชสมบัติคืนจากเจ้าฟ้าพร ยกราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัย (พระราชโอรสองค์รอง) แทน เป็นเหตุให้ เจ้าฟ้าพรทรงไม่พอพระทัย เพราะทรงมองว่าราชสมบัติควรตกเป็นของกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ พระโอรสองค์โตแทน จึงเตรียมซ่องสุมกองกำลังไว้ ด้านเจ้าฟ้าอภัยทราบดีว่าเจ้าฟ้าพรต้องไม่พอพระทัยเป็นแน่ จึงรับสั่งให้เตรียมกำลังไว้เช่นกัน

ทั้งเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าพร ต่างรอเวลาที่พระเจ้าท้ายสระเสด็จสวรรคตลงเท่านั้น ไม่นานนักอาการพระประชวรแย่ลงจนแพทย์หลวงไม่สามารถวายการรักษาได้ พระเจ้าท้ายสระจึงเสด็จสวรรคตลงในปีพ.ศ. 2275

หลังพระเจ้าท้ายสระเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าอภัยพระราชโอรสซึ่งอ้างสิทธิในราชสมบัติ และเจ้าฟ้าปรเมศร์พระอนุชาของเจ้าฟ้าอภัย ได้สู้รบกับเจ้าฟ้าพรพระอนุชาของพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเจ้าอาของเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ในที่สุด เจ้าฟ้าพรเป็นฝ่ายชนะ และได้รับสถาปนาเป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ”

จากเรื่องราวที่ถูกบันทึกในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ จะเห็นได้ว่า พระเจ้าท้ายสระเป็นพระมหากษัตริย์ที่นอกจากจะคำนึงศาสนาเป็นสำคัญจากพระราชกรณียกิจต่าง ๆ แล้ว ยังทรงเป็นกษัตริย์ที่โอนอ่อนผ่อนปรน ไม่เหี้ยมโหดดุร้ายเฉกเช่นพระเจ้าเสือ ผู้เป็นพระราชบิดา แต่มีความเด็ดขาด จากการรับสั่งให้สำเร็จโทษพระเจ้าองค์ดำ ที่ทรงส่อแววว่าจะคิดกบฏ รวมถึงได้เห็นกฎและสภาพสังคมในยุคสมัยนั้นค่อนข้างชัดเจนด้วย

เรียบเรียงจากพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ

ภาพจาก Wikipedia /พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ

ไกด์ไทยในเกาหลี เผย ปัจจัย ตม.เกาหลีแบนคนไทย

ย้อนพฤติกรรม 2 สส.พรรคก้าวไกล คุกคามทางเพศเหยื่อสาว! คำพูดจาก เว็บสล็อตแท้

พยากรณ์อากาศล่วงหน้า ฤดูหนาวเลื่อนไปก่อน! อากาศเย็นลงยังไม่ถึงกับหนาว

 มองประวัติศาสตร์ ยุค “พระเจ้าท้ายสระ” ผ่านพงศาวดาร สมเด็จพระพนรัตน์ฯ